การขอออกโฉนดที่ดินใหม่ เมื่อโฉนดที่ดินหาย
จะทำอย่างไรกันดี ถ้าเกิดว่าโฉนดที่ดินที่เราครอบครองอยู่นั้นหายไป หรือว่าเกิดความชำรุดขึ้อย่างแรกเลยที่เราจะต้องทำ ก็คือ เราจะต้องแจ้งความเป็นหลักฐาน และทำการเดินทางไปยังสำนักงานกรมที่ดิน เพื่อที่จะแจ้งกับทางเจ้าพนักงานที่ดินให้ออกใบแทน หนังสือสิทธิในที่ดิน(โฉนดที่ดิน น.ส. 3 ก.) ให้ใหม่ โดยขั้นตอนการขอออกใบแทนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมีขั้นตอนอะไรบ้าง
ขั้นตอนการขอออกใบแทนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน มีดังนี้
หลักฐานประกอบการขอออกใบแทน
1. กรณีโฉนดที่ดินชำรุด ถ้ามีหลักฐานตรวจสอบได้ คือ ตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนดที่ดิน ชื่อและตราประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และ/หรือชื่อและตราประจำ ตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามลักษณะของแบบโฉนดที่ดิน ก็จะไม่ค่อยยุ่งยาก
2. กรณีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ชำรุด การตรวจสอบหลักฐานให้อนุโลมตามข้อ 1 กรณีตามข้อ 1 และข้อ 2 และจะต้องมีหลักฐานประกอบด้วย ดังนี้
2.1.โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ชำรุด
2.2. บัตรประจำตัวผู้ขอ
2.3. ทะเบียนบ้าน
2.4. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
3. กรณีโฉนดที่ดิน สูญหายหรือชำรุดไม่สามารถตรวจสอบ หลักฐานได้ นอกจากมีหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้วจะต้องดำเนินการ และมีหลักฐานดังนี้
3.1 ต้องนำพยานที่เชื่อถือได้และ/หรือรู้เห็นการสูญหายของโฉนดที่ดินอย่างน้อย 2 คน ไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนและพยานต้องนำ บัตรประจำตัวไปแสดงตัวด้วย
3.2 กรณีสูญหาย เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา ให้นำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไปประกอบคำขอด้วย
3.3 ถ้าเป็นกรณีศาลสั่งหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายขอให้ออกใบแทนให้นำคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุด หรือ หนังสือร้องขอไป ด้วย
ขั้นตอนการขอออกใบแทน
1. รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
2. เจ้าหน้าที่รับคำขอและสอบสวน
3. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจหนังสือมอบอำนาจ และพิจารณาสั่งการ
4. ลงบัญชีรับทำการ
5. ตรวจสอบเพื่อทำการอายัด
6. เขียนใบสั่ง ใบเสร็จและรับเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
7. พิมพ์ประกาศ กรณีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอันตรายหรือสูญหาย
8. เจ้าของที่ดินรับประกาศและนำเจ้าหน้าที่ไปปิดประกาศ
9. ประกาศแจกที่ดินให้ปิดในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่และในบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ
10. ประกาศครบกำหนด 30 วัน ไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน เบิกแบบพิมพ์ดำเนินการสร้างใบแทน
11. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาลงนามในใบแทน และแจ้งเจ้าของที่ดินมารับใบแทน
12. แจกใบแทนให้เจ้าของที่ดิน
สำหรับการเก็บใบโฉนดที่ดินนั้นควรจะเก็บไว้ที่มิดชิด ที่เราคิดว่าปลอดภัย และไม่สามารถมีผู้ได้รับรู้ได้ เพราะหากว่าโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกิดการหายขึ้นมา อาจจะทำให้ยุ่งยาก ในการดำเนินขอออกใบแทนใหม่น่ะค่ะ